สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา จัดพิธีเปิด “ห้องไทย” และนิทรรศการถาวรเรื่องการเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-อินเดีย

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา จัดพิธีเปิด “ห้องไทย” และนิทรรศการถาวรเรื่องการเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-อินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ก.ค. 2565

| 1,377 view

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ร่วมกับมหาวิทยาลัยรพินทรภารตี จัดงานพิธีเปิด “ห้องไทย” หรือ “Thai Gallery” และนิทรรศการเกี่ยวกับการเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร ภายใต้ชื่อ “Tagore’s Visit to Siam: Prelude to the Modern-Day Chapter of Thai-Indian Relations” ณ พิพิธภัณฑ์รพินทรภารตี เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยรพินทรภารตี และเคยเป็นคฤหาสน์ประจำตระกูลของรพินทรนาถ ฐากูร ผู้ซึ่งเป็นกวี นักประพันธ์เพลง นักการศึกษา และเป็นชาวเอเชียคนแรกซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ๒๔๕๖ (ค.ศ. ๑๙๑๓)

การจัดตั้ง “ห้องไทย” เป็นโครงการ flagship ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-อินเดีย และครบรอบ ๙๕ ปี การเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร ในปี ๒๔๗๐ (ค.ศ. ๑๙๒๗) โครงการดังกล่าวมีที่มาจากแนวคิดของนายนรชิต สิงหเสนี อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในปี ๒๕๕๙ ที่เห็นว่าประเทศไทยควรจัดตั้งห้องนิทรรศการนำเสนอเรื่องราวการเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร พร้อมทั้งนำเสนอและเน้นย้ำถึงคุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยต่อความสัมพันธ์ ไทย-อินเดีย สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดทำข้อเสนอโครงการครั้งแรกในสมัยของนายปรีชา แก่นสา อดีตกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา (๒๕๕๘-๒๕๖๐)

โครงการจัดตั้ง “ห้องไทย” เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี ๒๕๖๒ ในช่วงการดำรงตำแหน่งของนางสาวสวียา สันติพิทักษ์ อดีตกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา (๒๕๖๑-๒๕๖๔) โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดทำเนื้อหาและเรียบเรียงข้อมูล ตลอดจนอำนวยการออกแบบชิ้นนิทรรศการและเรียบเรียงจดหมายเหตุ เอกสารหลักฐาน และสิ่งที่ใช้ประกอบการจัดแสดงในห้องนิทรรศการ เพื่อส่งให้คณะกรรมการของมหาวิทยาลัยรพินทรภารตีพิจารณา จากนั้น สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ดำเนินการผลิตชิ้นนิทรรศการจนแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๓

เนื้อหานิทรรศการของสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลจากรองศาสตราจารย์สาวิตรี เจริญพงศ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ “สัมพันธ์สยามในนามภารต: บทบาทของรพินทรนาถ ฐากูร สวามีสัตยานันทปุรี และสุภาส จันทร โบส ในสายสัมพันธ์ไทย-อินเดีย” จัดพิมพ์โดยศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การออกแบบชิ้นนิทรรศการและห้องนิทรรศการเป็นผลงานของผู้ออกแบบชาวไทย โดยได้รับคำแนะนำด้านการออกแบบและกราฟิกจากนายสุเมธ จักษ์เมธา อาจารย์พิเศษ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดยที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในประเทศอินเดียในช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ สถานศึกษาและพิพิธภัณฑ์ปิดทำการชั่วคราวและไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างหรือตกแต่งสถานที่ โครงการของสถานกงสุลใหญ่ฯ จึงต้องถูกระงับไปก่อน โดยได้จัดงานประชาสัมพันธ์นิทรรศการที่ผลิตเสร็จแล้วในรอบสื่อมวลชนและบุคคลในแวดวงวิชาการและพิพิธภัณฑ์ โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับท้องถิ่นในห้วงการระบาดฯ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔

ในปี ๒๕๖๕ ภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดฯ ในประเทศอินเดียลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โครงการจัดตั้งห้องนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ไทย-อินเดีย และรพินทรนาถ ฐากูร สามารถดำเนินการต่อได้ในสมัยของนางสาวอัจฉราพรรณ ยาวะประภาษ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ซึ่งเข้ารับหน้าที่ตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๖๕ จนถึงปัจจุบัน

ในพิธีเปิด “ห้องไทย” สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับเกียรติจากนางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี และนาย Bratya Basu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา รัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตก เป็นประธานในพิธีดังกล่าว ซึ่งพิธีฯ ได้จัดขึ้นพร้อมกัน ณ ระเบียงหน้าห้องนิทรรศการ “ห้องไทย” และถ่ายทอดสดไปยังห้องประชุมอุทัยศังกร (Uday Shankar Hall) พิพิธภัณฑ์รพินทรภารตี ซึ่งมีแขกรับเชิญเข้าร่วมเป็นสักขีพยานประมาณ 100 คน อาทิ กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน รองข้าหลวงใหญ่สหราชอาณาจักร กงสุลใหญ่สาธารณรัฐอิตาลี กงสุลใหญ่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น และผู้แทนจากสถานกงสุลใหญ่รัสเซีย สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ณ เมืองกัลกัตตา ตลอดจนคณาจารย์และบุคลากรในวงการวิชาการ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรมอินเดียและนานาชาติ อาทิ ผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศสแห่งเบงกอล ผู้อำนวยการ Kolkata Centre for Creativity ตลอดจนบรรดาสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ และมีแขกรับเชิญจากแวดวงสังคมอื่น ๆ ซึ่งถือเป็น Friends of Thailand เข้าร่วม โดยก่อนเริ่มพิธี สถานกงสุลใหญ่ฯได้นำเสนอวีดิทัศน์ข่าวในพระราชสำนัก พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองกัลกัตตา และพิพิธภัณฑ์รพินทรภารตี ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗

เมื่อพิธีเปิดที่หน้าห้องไทยและนิทรรศการฯ เสร็จสิ้น คณะฯ ได้เดินทางมายังห้องประชุมอุทัยศังกร นางสาวอัจฉราพรรณ ยาวะประภาษ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการจัดตั้งห้องไทย ได้มอบเหรียญเงินที่ระลึกพิมพ์ลายให้แก่ประธานในพิธีฝั่งไทยและฝั่งอินเดีย และแก่ Professor Sabyasachi Basu Ray Chaudhury รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรพินทรภารตี ในฐานะหน่วยงานเจ้าของสถานที่มหาวิทยาลัยรพินทรภารตี

ในลำดับต่อไป ประธานในพิธีฝ่ายอินเดีย ได้กล่าวแสดงความยินดีแก่รัฐบาลไทยที่ได้จัดตั้ง “ห้องไทย” ในพิพิธภัณฑ์รพินทรภารตีสำเร็จ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในความสัมพันธ์ ไทย-อินเดีย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับรัฐเบงกอลตะวันตกและเมืองกัลกัตตา ซึ่งถือเป็นประตูของอินเดียสู่ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้น รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรพินทรภารตี ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดตั้งห้องไทยและนิทรรศการ ตลอดจนบทบาทของบุคลากรมหาวิทยาลัยและพิพิธภัณฑ์รพินทรภารตีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ นางสาวอัจฉราพรรณ ยาวะประภาษ ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการฯในด้านสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ตลอดจนเนื้อหานิทรรศการฯ ที่มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย โดยเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ของรพินทรนาถ ฐากูร และเนื้อหาการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองกัลกัตตาและพิพิธภัณฑ์รพินทรภารตีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการเยือนระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ไทย-อินเดีย ในยุคปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้องกับเมืองกัลกัตตา และนางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้กล่าวขอบคุณสถานกงสุลใหญ่ฯ และมหาวิทยาลัยภารตี ที่ได้รังสรรค์ “ห้องไทย” เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับรพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญของอินเดีย และบุคคลสำคัญของไทยในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ไทย-อินเดีย ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-อินเดีย ซึ่งบังเอิญตรงกับโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ ๙๕ ปี การเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร และครบรอบ ๗๕ ปี การได้รับเอกราชของอินเดีย และได้ฝากถึงสาธารณชนชาวอินเดียถึงโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทย-อินเดีย ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางการเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร ในอนาคตอันใกล้ต่อไป

ภายหลังคำกล่าวโดยประธานร่วมและฝ่ายผู้จัด นายณัฏฐ์ สวัสดิ์สาลี กงสุล ได้นำเสนอวีดิทัศน์ “The Making of the Thai Gallery” ซึ่งรวบรวมสารและบทสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการจัดตั้งห้องไทย รวมถึงบทสัมภาษณ์ รศ. สาวิตรี เจริญพงศ์ เจ้าของผลงานวิจัยและผู้ตรวจเนื้อหาสารัตถะของนิทรรศการฯ และนอกจากนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้นำเสนอกระบวนการจัดตั้งห้องไทยตั้งแต่การเคลื่อนย้ายชิ้นนิทรรศการจากบ้านพักกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ไปยังพิพิธภัณฑ์ฯ กระบวนการปรับปรุง ซ่อมแซมและตกแต่งห้องไทยให้สวยงามสมเกียรติ สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการถาวร การเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร ทั้งนี้ การตกแต่งห้องไทย ได้รับแรงบันดาลใจจากวังปารุสกวัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจทั้งไทยและต่างประเทศเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในช่วงท้ายของรายการ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดให้แขกผู้มีเกียรติภายในงานได้รับประทานของว่างไทย ได้แก่ จีบนกไส้ไก่ ช่อม่วงไส้ไก่ ขนมไทย ได้แก่ ลูกชุบ ขนมกลีบลำดวน และเครื่องดื่มไทย คือ น้ำตะไคร้ใบเตย และได้จัดแสดงผลงานการแกะสลักผักและผลไม้ไทยของแม่ครัวสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมไทยและความเป็นไทยอย่างบูรณาการ และเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการทูตอำนาจนิ่มนวลของไทยผ่านวัฒนธรรมอาหารและศิลปะของไทยด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ