รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ฯ เข้าร่วมเป็นแขกเกียรติยศและกล่าว สุนทรพจน์ในพิธีปิดงานนิทรรศการ Cluster of Museums’ Exhibition: “The Future of Museums: Recover and Reimagine” ในห้วงสัปดาห์มรดกโลก ณ Kolkata Centre for Creativity เมืองกัลกัตตา

รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ฯ เข้าร่วมเป็นแขกเกียรติยศและกล่าว สุนทรพจน์ในพิธีปิดงานนิทรรศการ Cluster of Museums’ Exhibition: “The Future of Museums: Recover and Reimagine” ในห้วงสัปดาห์มรดกโลก ณ Kolkata Centre for Creativity เมืองกัลกัตตา

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,400 view

                     เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 นายเกษมสันต์ ทองศิริ รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ได้เข้าร่วมเป็นแขกเกียรติยศในพิธีปิดงานนิทรรศการ Cluster of Museums’ Exhibition: “The Future of Museums: Recover and Reimagine” ซึ่งจัดขึ้น ณ Kolkata Centre for Creativity เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งตรงกับห้วงสัปดาห์มรดกโลกที่กำหนดโดยองค์การยูเนสโก โดยมีนายณัฏฐ์ สวัสดิ์สาลี กงสุล และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา เข้าร่วมงานด้วย

 

                     ในโอกาสดังกล่าว รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับมิติด้านมรดกโลกและพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ในไทยและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีพระราชดำริให้จัดทำรูปปั้นฤๅษีดัดตน 80 ท่า สร้างสวนสมุนไพรและขุดสระน้ำ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและให้ความรู้ด้านการแพทย์แก่ชาวเมืองพระนคร การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้ก่อสร้างพระที่นั่งสำหรับจัดเก็บสิ่งของที่ระลึกที่ทรงได้รับจากคณะทูตานุทูต การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้เปลี่ยนวังหน้าเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงเกร็ดเกี่ยวกับการเริ่มใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในประเทศไทย ซึ่งเป็นคำสมาส มาจากคำภาษามคธ “วิวิธ” กับ “ภัณฑ์” มีความหมายรวมกันว่า หลากหลายสิ่ง และมีรากศัพท์มาจากประเทศอินเดีย

 

                     จากนั้น รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวถึงความท้าทายและการปรับตัวของวงการพิพิธภัณฑ์ของไทย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากได้ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ของไทยหลายแห่งก็ได้จัดกิจกรรมออนไลน์ อาทิ รายการ “Curator’s Corner” ทางช่อง Youtube นำชมผ้าไทยภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง การจัด “พิพิธภัณฑ์สัญจร” เพื่อนำองค์ความรู้ไปสู่ประชาชนตามชุมชนต่าง ๆ ในลักษณะเชิงรุก หรือแม้แต่การที่ผู้เชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์เข้าร่วมการประชุมวิชาการและเสวนา เพื่อเพิ่มความรับรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ไทยในกลุ่มบุคคลจากแวดวงต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ยังได้จัดทำนิทรรศการในลักษณะเสมือนจริง จำลองการเดินเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตั้งแต่หน้ารั้วทางเข้าไปจนถึงห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรและนิทรรศการชั่วคราวต่าง ๆ ซึ่งสามารถเข้าชมได้จากทางเว็บไซต์ของหน่วยงานด้วย

 

                     ทั้งนี้ ฝ่ายไทยยังได้แสดงความยินดีกับงานนิทรรศการในห้วงสัปดาห์มรดกโลก ณ Kolkata Centre for Creativity ที่สำเร็จลุล่วงด้วยดี ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่สร้างสรรค์ในแวดวงวิชาการและในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ และเมื่อคำนึงถึงบทบาทของในด้านพิพิธภัณฑ์ของทั้งประเทศไทยและอินเดียในฐานะที่เป็นประเทศซึ่งรุ่มรวยไปด้วยอารยธรรมและวัฒนธรรมจึงถือว่ามีคุณูปการต่อวงการพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความรู้แบบทางเลือกแก่สาธารณชนนอกเหนือจากสถาบันการศึกษาหลักเช่นโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยในภาพรวม บทบาทของทั้งไทยและอินเดียในวงการพิพิธภัณฑ์ต่างก็นำไปสู่การสงวนรักษาไว้ซึ่งมรดกโลก ซึ่งเป็นภารกิจร่วมของประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโก

 

                     ในช่วงท้าย รองกงสุลใหญ่ฯ รักษาการแทนกงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการจัดตั้งห้องไทยในพิพิธภัณรพินทรภารตี เมืองกัลกัตตา ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับการเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร ในปี 2470 ภายใต้ชื่อ “Tagore’s Visit to Siam: Prelude to the Modern-Day Chapter of Thai-Indian Relations” ซึ่งเป็นโครงการหลักของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา และเป็นความร่วมมือด้านนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ ไทย-อินเดีย ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดีย ในปี 2565

 

 

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา

30 พฤศจิกายน 2564

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ