เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 เรือตรีปิยพันธุ์ อติแพทย์ รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา และนายพิชญะ ลภัสธำรง กงสุล ได้เข้าร่วมการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “Tagore and Internationalism” ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยรพินทรภารตีและสำนักข่าว Bangla Worldwide โดยมีนาย Chittatosh Mookerjee อดีตประธานศาลสูงสุดเมืองกัลกัตตา เป็นประธานการเสวนา มีรองอธิการบดีและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยรพินทรภารตี กงสุลใหญ่สหราชอาณาจักรและรองกงสุลใหญ่จีนประจำเมืองกัลกัตตา ร่วมเป็นวิทยากร และมีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 80 คน
นายพิชญะฯ ได้เป็นผู้แทนแสดงมุมมองของประเทศไทย โดยเฉพาะการเยือนสยามของรพินทรนารถ ฐากูร เมื่อปี 2470 ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับการเสด็จประพาสอินเดียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2415 โดยทั้งการเยือนทั้ง 2 ครั้ง เป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย และช่วยจุดประกายให้คนไทยสนใจศึกษาอินเดียในฐานะแบบอย่างในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศไปสู่ยุคสมัยใหม่ ในขณะที่คนอินเดียหันมาสนใจศึกษาความเชื่อมโยงทางพระพุทธศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมระหว่างกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรพินทรภารตีก่อตั้ง “ห้องไทย (Thai Gallery)” ภายในพิพิธภัณฑ์รพินทรภารตี เมื่อปี 2565 เพื่อจัดแสดงนิทรรศการการเยือนสยามของรพินทรนารถ ฐากูร ให้คนอินเดียรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้ด้วย
รพินทรนารถ ฐากูร เป็นปูชีนยบุคคลที่สำคัญของอินเดีย โดยเป็นผู้ประพันธ์เพลงชาติอินเดีย และเป็นกวีชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 2456 ทั้งนี้ ในการเยือนสยามเมื่อปี 2470 รพินทรนารถ ฐากูร ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ด้วย