วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ธ.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 นายเกษมสันต์ ทองศิริ รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา พร้อมด้วยนางสาววีนัส อัศวภูมิ และนายณัฏฐ์ สวัสดิ์สาลี กงสุล ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาวัดมหาโพธิ์ (Bodhgaya Temple Advisory Board: BTAB) ประจำปี ค.ศ. 2021 ที่โรงแรม Oaks อำเภอคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย ตามคำเชิญของผู้ว่าราชการจังหวัดมคธ ซึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ BTAB โดยตำแหน่ง ในการประชุมครั้งนี้ โดยรองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ฯ ได้รับมอบหมายจากนางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีนาย Pham Sanh Chau เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำอินเดีย ได้รับเลือกให้เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนจากประเทศพุทธอื่น ๆ อาทิ เมียนมา ภูฏาน ศรีลังกา และสาธารณรัฐเกาหลี ตลอดจนสมาคมวัดมหาโพธิ์แห่งอินเดีย หรือ Mahabodhi Society of India (MBSI) ซึ่งเป็นองค์กรพุทธศรีลังกา เข้าร่วมด้วย ในส่วนของฝ่ายอินเดีย มีผู้แทนกรมโบราณคดี รัฐบาลอินเดีย กระทรวงการท่องเที่ยว รัฐบาลรัฐพิหาร สภานิติบัญญัติรัฐพิหาร คณะกรรมการบริหารวัดมหาโพธิ์พุทธคยา (Bodhgaya Temple Management Committee: BTMC) นายอำเภอคยา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตำบลพุทธคยา ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจ ผู้แทนหน่วยงานรักษา
ความปลอดภัย และยังมีผู้แทนจากกรมกิจการสงฆ์ รัฐสิกขิม เข้าร่วมการประชุมด้วย
การประชุม BTAB เป็นกลไกการปรึกษาหารือซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลรัฐพิหาร ตั้งแต่ปี 2492 (ค.ศ. 1949) มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเปิดโอกาสให้ผู้แทนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการวัดมหาโพธิ์พุทธคยาตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วโลก สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างของแต่ละประเทศ และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายอินเดียกับคณะทูตานุทูตของประเทศพุทธต่าง ๆ ที่ดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างมีนัยสำคัญในตำบลพุทธคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร
รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุม BTAB ในนามประเทศไทย โดยเริ่มจากความสำคัญของพุทธคยา ในฐานะที่เป็นสังเวชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งประเทศ รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ให้ความเคารพและเสด็จมาสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวด้วย ซึ่งการเสด็จเยือนพุทธคยาของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัตน วรขัตติยราชนารี ระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีบรรพชาอุปสมบท เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ถือเป็นการเยือนระดับสูงครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย ในพื้นที่พุทธคยา ในการนี้ ฝ่ายไทยได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานฝ่ายอินเดียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ BTMC และอำเภอคยา ที่ได้มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกทำให้การเสด็จดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดี
จากนั้น หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการส่งเสริมบริการทางการแพทย์ในรัฐพิหาร ประจำปี 2563 และปี 2564 ของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลไทย โดยในปี 2563 สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้บริจาคเครื่องช่วยหายใจ 2 เครื่อง และเตียงผู้ป่วย 1 เตียง ให้แก่โรงพยาบาล Jai Prakash Narayan อำเภอคยา และในปี 2564 สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้บริจาคเครื่องเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และเครื่องฉีดยาชา/วางยาสลบ (Anaesthesia Boyle’s Machine) ให้แก่โรงพยาบาล Anugrah Narayan Magadh Medical College and Hospital (ANMMCH) อำเภอคยา รัฐพิหาร เพื่อบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพิ่มขีดความสามารถด้านการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับประชาชนในพื้นที่อำเภอคยา ตลอดจนคณะสงฆ์ของไทยที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตำบลพุทธคยา อำเภอคยา และพื้นที่ใกล้เคียง และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลไทยกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนของอินเดียในรัฐพิหารด้วย
ในช่วงท้าย รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทของสถานกงสุลใหญ่ฯ ในการช่วยอำนวยความสะดวกจัดส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ขนาดใหญ่ของกังหันน้ำชัยพัฒนาจากประเทศไทยไปยังตำบลพุทธคยา ทั้งทางเรือและทางบก และได้อำนวยความสะดวกแก่คณะผู้แทนจากมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเดินทางมาซ่อมบำรุงและเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนของกังหันน้ำชัยพัฒนาที่สระมุจลินท์ วัดมหาโพธิ์พุทธคยา ระหว่างวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2562 และได้กล่าวยืนยันความพร้อมของรัฐบาลไทย ที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายอินเดียและประชาคมระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่แหล่งมรดกโลกพุทธคยา ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ ที่อยู่ในเส้นทางแสวงบุญของชาวพุทธ (Buddhist Circuit) ในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในปี 2565 ที่ไทยและอินเดียจะเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ
รูปภาพประกอบ