กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะแขกเกียรติยศในงาน South Asia Women’s Conference 2022 ณ เมืองภุพเนศวร รัฐโอฑิศา

กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะแขกเกียรติยศในงาน South Asia Women’s Conference 2022 ณ เมืองภุพเนศวร รัฐโอฑิศา

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 มิ.ย. 2565

| 1,200 view

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นางสาวอัจฉราพรรณ ยาวะประภาษ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตาได้รับเชิญในฐานะแขกเกียรติยศเข้าร่วมงาน South Asia Women’s Conference 2022  ภายใต้หัวข้อ “Towards an Equitable, Inclusive & Sustainable World” ณ Kalinga Institute of Social Sciences เมืองภุพเนศวร รัฐโอฑิศา ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2565 การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมบทบาทสตรีและเด็กหญิงในภูมิภาคเอเชียใต้ผ่านการจัดตั้งกลไกทางสถาบันเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยสตรีมีบทบาทนำ โดยมี Kalinga Institute of Industrial Technology (KIIT), Kalinga Institute of Social Sciences (KISS), สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ณ เมืองไฮเดอราบาด, UNESCO, UN Women,UN Population Fund, UN Volunteer, และ World Food Programme เป็นเจ้าภาพร่วม

กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ในฐานะแขกเกียรติยศได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม โดยเริ่มจากประเด็นความท้าทายของความเสมอภาคระหว่างเพศในด้านต่าง ๆ อาทิ การเข้าถึงการศึกษา โอกาสทางเศรษฐกิจ การเข้ารับบริการทางสาธารณสุข และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยในส่วนของภูมิภาคเอเชียใต้ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งวรรณะ ศาสนา ค่านิยมทางสังคม ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อแนวทางการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในภูมิภาคนี้ โดยเน้นย้ำว่า การจะบรรลุเป้าหมายความเสมอภาคระหว่างเพศ หัวใจสำคัญคือการสร้างพลังอำนาจสตรีซึ่งการสร้างพลังอำนาจสตรีนั้นไม่เพียงที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ แต่ยังเป็นการทำให้สตรีเห็นคุณค่าในตัวเองดึงศักยภาพที่สามารถต่อยอดและสร้างคุณค่าให้แก่ตนเองและประเทศชาติ

นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ฯ ยังได้กล่าวถึงบทบาทและการดำเนินการที่ผ่านมาของไทย รวมทั้งเน้นย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการสร้างพลังอำนาจสตรี ผ่านการจัดตั้งกลไกทางสถาบันและการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงกล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2565 ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Global Women Summit 2022 ในช่วงเดือนมิถุนายน ศกนี้

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม กงสุลใหญ่ฯ ได้รับทราบจากผู้เข้าร่วมการประชุมว่า ในที่ประชุมกลุ่มย่อย ผู้เข้าร่วมการประชุมได้หยิบยกการดำเนินการของไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมาหารือเป็นกรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่ดีด้วยรวมทั้งได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมการประชุม Global Women Summit 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 ราย จากประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ และศรีลังกา โดยเป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และนักเรียน-นักศึกษาจาก KIIT และ KISS

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ