กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา เข้าร่วมการเสวนาวิชาการอินโด-แปซิฟิก ภายใต้หัวข้อ “คิดใหม่ เชื่อมใหม่: อินโด-แปซิฟิกร่วมใจ ผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม”

กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา เข้าร่วมการเสวนาวิชาการอินโด-แปซิฟิก ภายใต้หัวข้อ “คิดใหม่ เชื่อมใหม่: อินโด-แปซิฟิกร่วมใจ ผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม”

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,727 view
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นางสาวอัจฉราพรรณ ยาวะประภาษ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา เข้าร่วมการเสวนาวิชาการอินโด-แปซิฟิก ในฐานะวิทยากรร่วมเสวนาในช่วงบทสรุป โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถาบันคลังสมอง Asian Confluence ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในเมือง Shillong รัฐเมฆาลัย และสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ณ เมืองกัลกัตตา ที่ศูนย์ประชุม Raajkutir เมืองกัลกัตตา มีผู้เข้าร่วม ได้แก่ กงสุลใหญ่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และรองข้าหลวงใหญ่บังกลาเทศ รวมทั้งอดีตนักการทูตอินเดียระดับสูง นักวิชาการจากหลายสาขาวิชา และนักเรียนนักศึกษา โดยในพิธีเปิด เอกอัครราชทูต Harsh V. Shringla ผู้ประสานงานหลักการเป็นประธาน G-20 ของอินเดีย และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดการเสวนาผ่านคลิปวิดีทัศน์
 
กงสุลใหญ่ฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภูมิทัศน์ในปัจจุบัน และข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคในระยะต่อไป โดยได้กล่าวถึงพัฒนาการเชิงบวกในห้วงที่ผ่านมาที่ควรได้รับการพัฒนาต่อยอด ได้แก่ การรับรองเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค การยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน และการเริ่มปฏิบัติหน้าที่การประธาน G-20 ของอินเดีย นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยในฐานะประธานกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) โดยเฉพาะการผลักดันความเชื่อมโยงผ่านโครงการทางหลวงสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย และการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาเป็นกรอบแนวคิดขับเคลื่อน
 
การเสวนาข้างต้นมีเป้าหมายที่จะใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดการหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ใน ๓ หัวข้อย่อย ได้แก่ ๑) การค้าและความเชื่อมโยง ๒) ภูมิอากาศและระบบนิเวศ และ ๓) การโยกย้ายถิ่นฐานและการเสริมสร้างสันติภาพ ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมทางวิชาการแล้ว สภาวัฒนธรรมสัมพันธ์อินเดียยังได้รวบรวมศิลปินนานาชาติจำนวนมากจากอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บังกลาเทศ และศรีลังกา มาร่วมมือกันผลิตการแสดงหลากหลายวัฒนธรรมได้อย่างผสมกลมกลืนตลอดการเสวนา
 
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้เคยร่วมมือกับสถาบันคลังสมอง Asian Confluence ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการนําผู้ประกอบการรุ่นใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเยือนไทย ภายใต้แนวคิด “แม่น้ำพรหมบุตรพบแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ระหว่างวันที่ ๕-๙ กันยายน ๒๕๖๕ และการเยือนสถาบัน Asian Confluence ของนางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี และคณะผู้แทนภาคเอกชนไทยเพื่อศึกษาสภาพเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออินเดีย เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๕

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ