เงินกับการจับจ่ายใช้สอยของชาวอินเดีย

เงินกับการจับจ่ายใช้สอยของชาวอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,223 view

เงิน เงิน เงิน กับการจับจ่ายใช้สอยของชาวอินเดีย

200

 

    เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้าของกิจการรายใหญ่หลายรายในเมืองกัลกัตตา ได้รับฟังข้อมูลซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการทำความเข้าใจพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าชาวอินเดียเพื่อให้สามารถปรับตัวสอดรับกับพฤติกรรมดังกล่าว 
    ประการแรก ทุกคนประสานเสียงเห็นตรงกันว่าชาวอินเดียนิยมใช้จ่ายเงินสด ไม่นิยมการใช้บัตรเครดิต/เดบิต และการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 
    ผลสำรวจของธนาคารกลางอินเดียระบุว่าชาวอินเดียเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการจับจ่ายโดยยอมรับการใช้บัตรเครดิตหรือการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ในปี 2007 มูลค่าการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มมีจำนวน 3 ล้านล้านรูปี ในขณะที่ในปี 2012 ตัวเลขสูงขึ้นจากเดิม 6 เท่า เป็น 18 ล้านล้านรูปี เนื่องจากมีการการพัฒนาระบบการชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสด เช่น  Real Time Gross Settlement (RTGS) ระบบ National Electronic Funds Transfer (NEFT) และ National Electronic Clearing System (NECS)
     ถึงแม้ว่ามูลค่าเงินจากการใช้ตู้เอทีเอ็มจะสูงมากจบนับหน่วยเลขศูนย์แล้วเวียนหัว อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอินเดียระบุว่า หากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรอินเดียที่มีกว่า 1.2  พันล้านคน ยังนับว่าสัดส่วนของความนิยมทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในอินเดียต่ำกว่าในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เช่น เคนยา อียิปต์ ฯลฯ 
    รายงานฉบับเดียวกันระบุว่าสัดส่วนผู้นิยมใช้บัตรเดบิต/เครดิตตั้งแต่ปี 2007 จนถึง 2012 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จาก 2.8 % เป็น 4.1 % บริษัท MasterCard ก็มีผลงานวิจัยหัวข้อ "Cost of Cash in India"ออกมาโดยมีข้อสรุปอินเดียพึ่งพิงการใช้เงินสดในการทำธุรกรรมเกินไปมาก ( overdependence on currency for payment) เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าธนบัตรหรือเหรียญที่ใช้กันมีต้นทุนในการผลิตทั้งนั้น  
    สาเหตุพฤติกรรมการใช้เงินสดอาจมีหลายประการ บ้างก็ว่าการใช้เงินสดนั้นคล่องมือ ควักออกมาจากกระเป๋า เห็นท่านมหาตมะคานธีสักหน่อย ยิ่งเป็นใบสีแดง ๆ เขียว ๆ ยิ่งเนรมิตได้ดังใจนึก ต่างจากการจ่ายเช็คที่ผู้รับไม่สามารถวางใจได้ บางพื้นที่ของประเทศไม่มีสาขาธนาคารตั้งอยู่ ประชากรไม่มีบัญชีธนาคาร การทำธุรกรรมการเงินทางอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่และผู้บริโภคยังไม่วางใจในระบบความปลอดภัยของข้อมูลมากนัก 
    ประการที่สอง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีของอินเดียซับซ้อนมาก กฎหมายหลักบางฉบับกำหนดขึ้นหลายสิบปีก่อนและยังไม่มีการปรับรายละเอียดให้เข้ากับบริบทของการค้าการลงทุนในปัจจุบัน บริษัทเอกชนต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติจึงจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อให้คำแนะนำด้านภาษีโดยเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้บริษัทละเมิดข้อกฎหมายหรือละเลยการชำระภาษีโดยมิได้เจตนา 
    นอกจากนี้ การนิยมเก็บเงินสดไว้กับตัวแทนที่จะนำเข้าบัญชีธนาคารอาจมีสาเหตุจากความซับซ้อนและละเอียดยิบย่อยของกฎหมายอินเดียที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมาย  Liberalized Remittance Scheme ของธนาคารกลางอินเดียกำหนดให้ปัจเจกชนสามารถโอนเงินผ่านทางธนาคารได้ไม่เกิน 1.25 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในแต่ละปีงบประมาณ (เมษายน – มีนาคม) กฎหมาย Foreign Exchange Management Act  มีข้อกำหนดละเอียดเกี่ยวกับการโอนเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ในต่างประเทศ 
    นี่เองจึงเป็นเหตุให้มีเรื่องเล่าว่ามหาเศรษฐีอินเดียบางรายที่ต้องการเป็นเจ้าของวิมานเคหสถานในตึก Burj Khalifa ในดูไบ ต่างก็หลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการซื้อขายผ่านการชำระเงินในระบบ ถึงกับขนเงินสดไปซื้อกันเลยทีเดียว จะจริงหรือไม่ ก็มีข้อมูลปรากฏว่าจากจำนวนทั้งหมด 900 ห้องในตึกนี้ ชาวอินเดียเป็นเจ้าของไปแล้วกว่า100ห้อง 
    เจ้าของบริษัททัวร์รายใหญ่ในเมืองกัลกัตตาได้ให้ข้อมูลว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียที่เป็นผู้มีรายได้สูงนิยมจับจ่ายใช้สอยเป็นเงินสดมากกว่าบัตรเครดิต เนื่องจากหากมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงกว่ามูลค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เจ้าของบัตรจะต้องสำแดงเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ รายได้ต่อปีงบประมาณ บัญชีธนาคารและยอดเงินทั้งหมด เป็นต้น ดังนั้น นักท่องเที่ยวอินเดียจึงนิยมใช้บัตรเครดิตการันตีการสำรองห้องพักเท่านั้น แต่ชำระค่าบริการเป็นเงินสด
    ผู้ประกอบการที่มีชาวอินเดียเป็นกลุ่มลูกค้า อาจพิจารณาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่านิยม พฤติกรรมการใช้จ่าย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจความต้องการและปรับสินค้าหรือบริการของตนให้ตรงกับใจชาวอินเดียต่อไป

ภัทธิรา เจียมปีชา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,061 วันที่  14 - 17  มิถุนายน  พ.ศ. 2558